๒,๖๐๐ปีแห่งการตรัสรู้ธรรมกับ...งานประชุม “วิสาขบูชานานาชาติ พ.ศ.๒๕๕๕” : เรื่อง / ภาพ โดยไตรเทพ ไกรงู
การจัดงานพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าวันวิสาขบูชา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ เป็นอภิลักขิตกาลที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ ๒,๖๐๐ ปี นับเป็นวโรกาสมหามงคลพิเศษที่นำความปลาบปลื้มปีติมาสู่มวลมนุษย์พุทธศาสนิกชน ทั่วทั้งโลก โดยประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างกำหนดให้มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองถวายเป็นพุทธบูชาในช่วงเทศกาลสัปดาห์วันวิสาขบูชาอย่างยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งนิยมเรียกว่างานฉลองสัมพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้
ในวาระโอกาสพิเศษที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ ๒,๖๐๐ ปี ในวันวิสาขบูชา ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ หน่วยงานภาครัฐและองค์กรทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ได้มีความตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการจัดงาน เฉลิมฉลองเป็นพิเศษ ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนงานพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ มีความมุ่งมั่นที่จะจัดงานถวายเป็นพุทธบูชา
รัฐบาลไทยได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ชาวพุทธนานาชาติรู้จักประเทศไทย ในฐานะเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ขณะเดียวกันที่สำคัญก็คือ จะต้องทำให้ ชาวพุทธในเมืองไทย เกิดความตื่นตัวมากขึ้นด้วย โดยมีองค์กรต่างๆ ร่วมกันขับเคลื่อน พร้อมทั้งเชิญชวนแขกของรัฐบาล และผู้นำชาวพุทธนานาชาติเข้าร่วมงาน และขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้มีส่วนร่วมในการจัดงานอย่าง ยิ่งใหญ่ ใช้สถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์
ทั้งนี้ได้กำหนดให้ พุทธมณฑล จ.นครปฐม เป็นศูนย์กลางการจัดงาน และสถานที่จัดงานอื่นๆ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกิจกรรม อย่างเป็นเอกภาพพร้อมเพรียง ในการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
รูปแบบของการจัดงาน ๓ ด้าน ประกอบด้วย ๑.ด้านการศึกษา การเผยแผ่ การปฏิบัติบูชา มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมการศึกษา การเผยแผ่ การปฏิบัติบูชา และการมีส่วนร่วมขององค์กรทุกภาคส่วน และประชาชนในการจัดงานฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดำเนินการจัดกิจกรรม
๒.ด้านวิชาการ จัดกิจกรรมประชุมสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับพุทธประวัติ หลักธรรมคำสอนโดยมีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการจัดประชุมสัมมนาวิชาการทั้งนานาชาติ และการประชุมสัมมนาวิชาการภาคภาษาไทย โดยให้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนสาขาพระพุทธศาสนา เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
และ ๓.ด้านกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม มีกระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับเครือข่าย เช่น มูลนิธิ หอจดหมายเหตุ เป็นต้น จัดหาการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม และการแสดงภาพยนตร์เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการแสดงอันบ่งบอกถึงการส่งเสริมและประกาศสรรเสริญพระคุณขององค์ สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้า เป็นการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศบนเวทีนานาชาติ ให้เกิดความยิ่งใหญ่ในการจัดงานวิสาขบูชาโลก
พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติ บอกว่า การจัดงานฉลองเนื่องในอภิลักขิตกาลที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ ๒,๖๐๐๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๕๕ นี้ เรียกว่า สัมพุทธชยันตี ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ชาวพุทธทั่วโลกได้ตระหนักที่จะนำหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และตรัสสั่งสอนอันประเสริฐ ส่งเสริมให้มวลมนุษย์มีสันติสุขและสันติภาพ รวมทั้งประพฤติปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวัน และประการสำคัญการจัดงานฉลองสัมพุทธชยันตีในปีนี้ ก็เพื่อให้ชาวพุทธทุกเพศทุกวัยได้รู้จัก เข้าใจ เข้าถึงหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น
พระพุทธปัญญาเพื่อมนุษยชาติ
การจัดงาน “วิสาขบูชานานาชาติ” ครั้งที่ ๙ พระธรรมโกศาจารย์ บอกว่า นอกจากเพื่อเป็นการถวายพุทธบูชาฉลองครบรอบ ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมหามงคลของปวงชนชาวไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษาในปีที่ผ่านมา
ระหว่างวันที่ ๓๑ พฤษภาคม-๒ มิถุนายนนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา และ มจร. ได้กำหนดจัดประชุมวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ ๙ ขึ้นภายใต้หัวข้อ พระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ (The Buddha's Enlightenment for the well-being of Humanity) ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ และพุทธมณฑล จ.นครปฐม ตามมติคณะกรรมการจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติซึ่งเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานฯดังกล่าว
ในงานนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย โดยวันที่ ๓๑ พฤษภาคม จะมีพิธีเปิดการประชุม ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้งยังมีการจัดเสวนาทางวิชาการ แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ ๑.พุทธปัญญาและการปรองดอง (Buddhist Wisdom for Reconciliation) ๒.พุทธปัญญาและสิ่งแวดล้อม(Buddhist Wisdom for Environment) และ ๓.พุทธปัญญาและการปรับเปลี่ยนชีวิตมนุษย์(Buddhist Wisdom for Human Transformation) ขณะเดียวกันยังมีการจัดสัมมนาเรื่องพุทธปรัชญาและกรรมฐาน, ประมวลทัศนะและพุทธปรัชญา, การสอนพุทธธรรมในต่างประเทศ และพุทธจิตบำบัด
นอกจากนั้นยังมีการจัดประชุมเพื่อจัดทำสหบรรณานุกรมตำราทางพุทธศาสนา (UCBT) นำเสนอผลสรุปโครงการพระไตรปิฎกสากล (CBT) การแสดงวัฒนธรรมนานาชาติ อาทิ ประเทศจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ศรีลังกา อินโดนีเซีย และไทย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา พระธรรมโกศาจารย์ ได้เดินทางไปร่วมประชุมสวดมนต์เพื่อสันติภาพโลก ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา พร้อมเข้าพบ ฯพณฯ มหินทรา ราชปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกา เพื่อพูดคุยด้านการพระศาสนา พร้อมยืนยันความพร้อมของคณะสงฆ์ไทยและรัฐบาลไทย ในการให้การต้อนรับท่านประธานาธิบดีที่จะเดินทางมาร่วมงานวิสาขบูชาโลก ณ ประเทศไทยในปลายเดือนพฤษภาคมนี้
..................................................................................................................................
ที่มา komchadluek.net